BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 |  

︎BKKABF2023 VISIT

Venue : Asia Hotel Bangkok


Event Dates :

BKKABF Symposium :
Thursday 30.NOV.2023
13.00 – 17.00

BKKABF Fair Dates :
Friday 01.DEC. – Sunday 03.DEC.2023

BKKABF Fair Hours :
13.00 – 20.00

Ticket :
General Public : 150 THB/day
Students : 100 THB/day
Children Under 12 : Free entry
For more information, please contact :
contact@bangkokartbookfair.info

© 2023 BKKABF
Initiated by STUDIO150 in partnership with BANGKOK CITYCITY GALLERY since 2017, BANGKOK ART BOOK FAIR (BKKABF) is an annual event aimed to bring together self-publishing and co-creating community to contribute in discovering and exchanging ideas, cultural ideals, and artistic aspirations.


A
BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 |  

︎UPDATE  ︎EXHIBITOR  ︎VISIT
︎PAST EVENT

A
A
เรื่อง : พัฒนา ค้าขาย
ภาพ : ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์


คนในแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์อิสระคงรู้กันดีว่าขอบเขตของสิ่งพิมพ์ไม่เคยมีจำกัด ซีน (zine) สักเล่มสามารถเล่าเรื่องอะไรก็ได้ ตั้งแต่งานอดิเรกที่หลงใหล ชุดภาพถ่ายส่วนตัว ไปจนถึงเรื่องเล่าที่สร้างแรงกระเพื่อมในสังคม

When Life Gives You Guidebook คือซีนชุดพิเศษจาก When Life Gives You Lemons คอมมิวนิตี้สำหรับคนรักงานศิลปะย่านบางพลัด-บางอ้อ ที่เชื่อว่าศิลปะที่ดีไม่ควรมีข้อจำกัด

เมื่อนึกถึง When Life หลายคนอาจนึกถึงเวิ้งที่มีบ้านหลังใหญ่สองชั้นบรรยากาศอบอุ่น มีแกลเลอรี่และร้านรวงมากมายที่ซัพพอร์ตเรื่องการเยียวยาร่างกายและจิตใจ ทั้งร้านสัก ห้องเล่นโยคะ ร้านอาหาร และร้าน selected shop รวมของกระจุกกระจิกน่ารัก แต่บางคนอาจไม่เคยรู้ว่า When Life ยังตั้งใจเป็นแหล่งบ่มเพาะต้นกล้าที่ศิลปินรุ่นใหม่สามารถก้าวเท้าเข้ามาสร้างสรรค์งานของตัวเองได้แบบครบวงจร



ในเวิ้งของ When Life เต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายที่มาและอาชีพ แต่สิ่งที่ทุกคนมีร่วมกันคือความหลงใหลในการทำสิ่งที่รัก นั่นเป็นที่มาของซีน When Life Gives You Guidebook ที่ไม่ได้เป็นไกด์บุ๊กนำเที่ยว แต่เป็น ‘ไกด์ชีวิต’ ซึ่งบรรจุเรื่องราวของทุกคนในเวิ้งเอาไว้ ตั้งแต่ที่มาที่ไปกว่าจะมาเป็นส่วนหนึ่งของเวิ้ง ไปจนถึงมุมมองที่มีต่องานและชีวิต

นอกจากเป็นซีนเล่มแรกของ When Life นี่ยังเป็นการเข้าร่วมงาน BANGKOK ART BOOK FAIR ครั้งแรกของพวกเขาอีกด้วย

ซีนเล่มนี้ถูกสร้างสรรค์ด้วยความเชื่อแบบไหน และเหตุใด When Life จึงหันมาจับงานสิ่งพิมพ์อิสระ เราขอใช้บรรทัดต่อจากนี้ชวนคุณไปหา
คำตอบกับเหล่าผู้ดูแลเวิ้งกัน



When Life Gives You a Publication

ไม่ว่าจะเป็นสองผู้ก่อตั้ง When Life อย่าง ธัญวีร์ ไชยนาพงษ์ และ นายแพทย์มารุต มาเลิศ รวมถึง คณิตติน เขมะวิชานุรัตน์ ผู้จัดการและกราฟิกดีไซเนอร์ประจำบ้าน และ เปมิกา ลิ่วเฉลิมวงศ์ ศิลปินรับเชิญและผู้ช่วยกราฟิกดีไซเนอร์ ทุกคนต่างเชื่อว่าศิลปะไม่ควรมีข้อจำกัด

ก่อนหน้านี้ ทีม When Life คุ้นเคยกับการจัดนิทรรศการและสนับสนุนงานภาพถ่าย ภาพวาดเป็นหลัก และไม่เคยทำสิ่งพิมพ์มาก่อน ซีน When Life Gives You Guidebook จึงเป็นการจับงานสื่อสิ่งพิมพ์ครั้งแรกของพวกเขา และเป็นครั้งแรกที่จะนำไปจัดแสดงใน BANGKOK ART BOOK FAIR 2023
“เรารู้จักงานนี้อยู่แล้ว ฝันว่าอยากไปร่วมงานนี้สักครั้ง พอได้มาทำแบรนด์ดิ้งให้กับ When Life เราก็รู้สึกว่าการไปออกงาน BANGKOK ART BOOK FAIR เป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้พรีเซนต์พื้นที่นี้ เราเลยลองชวนทีมผลิตงานสิ่งพิมพ์เพิ่มเติม” เปมิกาเล่าให้ฟัง



คณิตตินผู้หลงใหลในสิ่งพิมพ์เป็นทุนเดิมก็เอาด้วย เขาเคยใฝ่ฝันอยากทำสิ่งพิมพ์มาเนิ่นนาน พอมีโอกาสจึงตั้งต้นเป็นหัวเรือของโปรเจกต์นี้

“เสน่ห์ของสิ่งพิมพ์คือมันจับต้อง สัมผัสได้ และกระดาษที่เราสัมผัสก็ไม่ได้มีแค่เท็กซ์เจอร์เดียว เนื้อหาแต่ละแบบก็จะเหมาะกับเท็กซ์เจอร์และลูกเล่นที่แตกต่างกันไป ซีนเล่มหนึ่งมีสิ่งที่น่าสนุกหลายๆ อย่างในเล่มเดียวได้ เราเลยรู้สึกว่ามันน่าหลงใหล” คณิตตินเอ่ย

ธัญวีร์และคุณหมอมารุตก็เห็นความสำคัญของสิ่งพิมพ์ไม่แพ้กัน พวกเขาเชื่อว่าแม้โลกจะหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านไปเท่าไหร่ สิ่งพิมพ์ก็ไม่น่าจะตาย หายไปจากโลกได้

“ทุกวันนี้ทุกคนหนีไปอยู่บนหน้าจอกันหมดแล้ว แต่ภาพเล็กๆ ที่เราเห็นบนจอเล่าเรื่องไม่ได้ทั้งหมดหรอก สิ่งพิมพ์ที่เราพิมพ์ออกมามันมีรายละเอียดและทำให้เราเข้าถึงอารมณ์ของภาพได้มากกว่า นั่นคืออิทธิพลที่สื่อสิ่งพิมพ์มีต่อมนุษย์” คุณหมอมารุตเสริม



When Life Gives You a Space

คณิตตินผู้เป็นหัวเรือใหญ่ของโปรเจกต์ When Life Gives You Art Book เล่าว่า ซีนที่พวกเขาสร้างสรรค์ขึ้นเล่มนี้เปรียบเสมือนบ้านหนึ่งหลัง ประกอบไปด้วยเรื่องราวและบทสัมภาษณ์ศิลปินกับผู้เช่าในสเปซแห่งนี้

และที่เปรียบหนังสือเล่มนี้เป็นบ้านก็เพราะ When Life สร้างอยู่ในพื้นที่บ้านจริงๆ เสียด้วย

ก่อนหน้านี้ ธัญวีร์เป็นสถาปนิกทำงานรับเหมา เข้ามารีโนเวตบ้านหลังนี้ให้ป้าแท้ๆ พร้อมด้วยภารกิจหาผู้เช่าให้ แต่เมื่อเห็นว่าบ้านมีโครงสร้างที่ดี น่าจะเปิดเป็นแกลเลอรี่หรือร้านกาแฟได้ ธัญวีร์จึงตัดสินใจเสนอชื่อตัวเองเป็นผู้เช่ารายใหม่



เริ่มแรก เธอเปิดร้านกาแฟและแกลเลอรี่เล็กๆ ก่อนโควิดระลอกแรกจะระบาด และทำให้กิจการชะงัก ในช่วงนั้นเธอจึงปรับพื้นที่หน้าบ้านให้เป็นลานสเก็ต ร้านอาหาร เบเกอรี่ ห้องล้างฟิล์ม ส่วนพื้นที่ด้านในบ้าน นอกจากแกลเลอรี่แล้วยังมีร้าน Selected Shop สตูดิโอถ่ายภาพ ร้านสัก แถมยังมีพื้นที่สำหรับโยคะและเวิร์กช็อปอีกสารพัดที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาจัดในเวิ้ง โดยมีคำจำกัดความที่ชัดเจนว่า ‘คอมมิวนิตี้ที่มีการเริ่มต้นใหม่อยู่เสมอ’ หรือ ‘There's always a new beginning at WLGUL’

เมื่อพื้นที่มีคนเข้ามามากขึ้นจนถึงจุดที่ธัญวีร์บริหารจัดการคนเดียวไม่ไหว เธอจึงขอแรงคณิตตินและเปมิกาเข้ามาร่วมทีม ซึ่งนอกจากจะช่วยรีแบรนด์ When Life ใหม่ เปมิกายังใฝ่ฝันจะทำงานภาพประกอบเต็มตัวและมีนิทรรศการของตัวเอง เมื่อแชร์ผลงานให้เจ้าของเวิ้งดู ธัญวีร์ชอบงานของเธอมาก เปมิกาจึงได้รับเชิญมาเป็นหนึ่งในศิลปิน ร่วมจัดแสดงงานกับศิลปินคนอื่นๆ ในช่วงปีหน้า



When Life Gives You a Chance

มากกว่าเล่าเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน ถ้อยคำสัมภาษณ์ที่ถูกถ่ายทอดในซีน When Life Gives You Guidebook ยังเล่าความตั้งใจของ When Life ที่ไม่ได้ทำงานศิลปะเฉพาะสิ่งพิมพ์อิสระเท่านั้น

แท้จริงแล้ว  ภารกิจสำคัญของ When Life คือการเป็นพื้นที่บ่มเพาะศิลปะหน้าใหม่อย่างครบวงจร นอกจากจัดแสดงงาน ที่นี่ศิลปินสามารถปรินต์งานคุณภาพระดับไฟน์อาร์ต เข้ากรอบ ขึงเฟรมโดย ‘This is mad frame’ สตูดิโอของคุณหมอมารุต และจบงานทุกอย่างได้ในพื้นที่เดียว มากกว่านั้น When Life ไม่ได้จำกัดงานศิลปะที่พวกเขาสนับสนุนไว้แค่งานเพนต์ติ้ง แต่ยังเป็นพื้นที่สำหรับศิลปะทุกแขนง ไม่ว่าจะงานถ่ายภาพ งานวาดภาพประกอบ งานปั้นเซรามิก ไปจนถึงงานสัก



เปมิกาในฐานะศิลปินรับเชิญแห่ง When Life กล่าวว่า “ในฐานะศิลปิน ที่นี่มีหลายอย่างที่สามารถซัพพอร์ตศิลปินได้ เหมือนเป็นแปลงเพาะต้นกล้า ไม่ว่าคุณจะมีสไตล์ที่แตกต่างกันแค่ไหนก็เข้ามาที่นี่ได้เสมอ

“ความน่ารักอีกอย่างของที่นี่คือมันเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนอยากเริ่มต้น เพราะพื้นที่ศิลปะเชิงพาณิชย์ที่มีชื่อเสียงอาจทำให้ศิลปินหน้าใหม่รู้สึกกดดันเวลาไปแสดงงาน แต่ที่นี่อยากเป็นจุดเริ่มต้นในการบ่มเพาะทดลองของศิลปินจึงมีบรรยากาศของบ้านที่อบอุ่น ศิลปินหน้าใหม่เลยรู้สึกปลอดภัย”



เป้าหมายอีกประการของ When Life คือการเป็นคอมมิวนิตี้ประจำย่านบางพลัด-บางอ้อ เพราะก่อนหน้านี้ ในย่านไม่มีพื้นที่ในลักษณะนี้เลย ธัญวีร์เล่าว่าสมัยก่อน เวลาอยากเรียนศิลปะ เวิร์กช็อป หรือแฮงก์เอาท์ เธอต้องใช้เวลานานในการเดินทางเข้าเมือง การมีอยู่ของ When Life จึงตอบโจทย์นี้ด้วย

ตั้งแต่เปิดสเปซมา ความสัมพันธ์ระหว่างทีมงานกับชุมชนบางพลัด-บางอ้อจึงแนบแน่นยิ่งกว่าที่เคย When Life ทำงานร่วมกับชุมชนในแง่การช่วยประชาสัมพันธ์ร้านรวงในย่านให้ผู้มาเยือนได้รู้จัก มากกว่านั้น ทีมงานยังขยันจัดงานที่ช่วยพัฒนาย่านนี้ให้เป็นย่านสร้างสรรค์ อย่างในอีเวนต์ ‘บางกอกบานฉ่ำ’ ที่ผ่านมา พวกเขาก็จัดกิจกรรมเดินเที่ยวย่าน พาผู้สนใจเดินเข้าไปในตรอกซอกซอยของบางพลัด-บางอ้อที่รถยนต์เข้าไม่ถึงเพื่อสำรวจวิถีชีวิตดั้งเดิม

“เราไม่อยากแต่งเรื่องขึ้นมาให้คนซื้อ แต่อยากให้คนที่สนใจได้มาเห็นว่าบางพลัด-บางอ้อ น่าสนใจขนาดไหน และค่อยๆ ร่วมกับคนในชุมชนสร้างย่านนี้ให้เป็นย่านสร้างสรรค์ แบบนี้น่าจะยั่งยืนกว่า” ธัญวีร์กล่าว



When Life Gives You a Zine

เพราะผู้คนใน When Life มีความหลากหลาย เทคนิคที่ใช้ในซีนเล่มแรกของพวกเขาจึงหลากหลายตาม

ไล่ตั้งแต่การจัดวางกราฟิก สี เลย์เอาต์ ไปจนถึงเท็กซ์เจอร์ของกระดาษในแต่ละบทที่ปรับเปลี่ยนไปตามเรื่องราวของแต่ละคน เช่น บทของธัญวีร์ผู้ชื่นชอบดอกไม้แห้ง ในงานดีไซน์ก็จะนำแสตมป์ลายดอกไม้มาใช้  บทของคุณหมอมารุตที่เป็นสมาชิกของสมาคมภาพถ่ายขาวดำก็ใช้โทนสีขาวดำในการเล่าเรื่อง หรือบทของสตูดิโอสัก rosemarywood.studio และ Yellowline.tatt  ก็แทรกภาพลายแทททูของร้าน ที่ผู้อ่านสามารถเลือกไปสักกับสตูดิโอได้จริงๆ



ลูกเล่นยังไม่หมดเท่านั้น ซีนเล่มนี้ยังมีการใช้กระดาษขนาดไม่เท่ากัน และมีซีนเล่มเล็กๆ เย็บซ้อนเข้าไปในซีนเล่มใหญ่อีกที เพื่อบอกเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของซับเจกต์แต่ละคนในเล่มด้วยความสนุกสนาน

“เพราะแต่ละคนมีเรื่องราวของตัวเอง วิธีการนำเสนอ (execute) สิ่งพิมพ์จึงไม่ได้มีรูปแบบตายตัว กระบวนการในการคิดสิ่งพิมพ์เล่มนี้ไม่ได้เป็นไปตามแบบแผนของสิ่งพิมพ์ทั่วไป มันทำให้เราได้สนุกกับกระบวนการระหว่างทางด้วย” เปมิกาบอก


“ความสำคัญของสิ่งพิมพ์อิสระคือการไม่โดนจำกัดกรอบนี่แหละ เราสามารถใส่ความสร้างสรรค์ในการเล่าเรื่องได้เต็มที่ นี่คือเหตุผลที่เราคิดว่าสิ่งพิมพ์อิสระนั้นจำเป็นมากๆ เราไม่อยากให้มันหายไป ไม่อยากให้สิ่งพิมพ์ถูกจำกัดกรอบแค่ในสเกลอุตสาหกรรม

“อย่างในเทศกาลขายหนังสือที่ประเทศเรามีอยู่แล้ว หนังสือในงานนั้นมักเต็มไปด้วยตัวอักษรและรูปภาพในลักษณะเดียวกัน การมีพื้นที่สำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีดีไซน์หลากหลายจึงเป็นเรื่องสำคัญและเราคิดว่างาน BANGKOK ART BOOK FAIR เป็นพื้นที่แบบนั้น”