BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 |  

︎BKKABF2023 VISIT

Venue : Asia Hotel Bangkok


Event Dates :

BKKABF Symposium :
Thursday 30.NOV.2023
13.00 – 17.00

BKKABF Fair Dates :
Friday 01.DEC. – Sunday 03.DEC.2023

BKKABF Fair Hours :
13.00 – 20.00

Ticket :
General Public : 150 THB/day
Students : 100 THB/day
Children Under 12 : Free entry
For more information, please contact :
contact@bangkokartbookfair.info

© 2023 BKKABF
Initiated by STUDIO150 in partnership with BANGKOK CITYCITY GALLERY since 2017, BANGKOK ART BOOK FAIR (BKKABF) is an annual event aimed to bring together self-publishing and co-creating community to contribute in discovering and exchanging ideas, cultural ideals, and artistic aspirations.


A
BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 |  

︎UPDATE  ︎EXHIBITOR  ︎VISIT
︎PAST EVENT

A
A
Community Spotlight :

Samyan Press

สำนักพิมพ์ที่เชื่อว่าการเขียนช่วยหล่อหลอมประชาธิปไตย


เรื่อง : สุดารัตน์ พรมสีใหม่
ภาพ : ณัฐวุฒิ เตจา


บนความเคลื่อนไหวทางการเมือง หลากหน้าหลายตาของผู้คนที่ลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อคำว่า ‘เปลี่ยนแปลง’ นิสิตจากรั้วมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งรวมตัวเพราะอุดมการณ์เดียวกันคือเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง  โดยใช้ ‘การเขียน’ เป็นเครื่องมือ เพราะพวกเขาเชื่อว่าพลังของตัวอักษรสามารถขับเคลื่อนประชาธิปไตยได้ไม่แพ้วิธีการอื่นๆ
นักเรียนเลวในระบบการศึกษาแสนดี

How to ต่อต้านทุนนิยมในศตวรรษที่ 21
จากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย
คู่มือต้านรัฐประหาร
ซ้ายจัด (ไม่) ดัดจริต
เจน เจคอบส์ นักคิดผู้พลิกชีวิตเมือง
อนาธิปไตย? โคตรใช่เลย!

คือส่วนหนึ่งของผลงานการรวมตัวของพวกเขาในชื่อ ‘สำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่าน’ โดยมีเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล เป็นคนริเริ่มและชักชวนเพื่อนๆ ให้มาผลิตหนังสือ เขียนเรื่องคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม และแปลหนังสือแนวคิดทางการเมืองต่างประเทศออกมาเผยแพร่

“พวกเรามองว่าในไทยยังขาดหนังสือเกี่ยวกับสังคมการเมืองหรือประเด็นทางสังคมที่ต่างประเทศพูดถึงแต่ในไทยยังไม่ถูกพูดถึง” ยาหยี–ณัชชา สินคีรี หนึ่งในทีมสำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่านเริ่มต้นเล่า

“เราอยากให้ประเด็นเหล่านี้ได้รับการพูดถึงในหมู่นักกิจกรรมหรือนักเคลื่อนไหว เนติวิทย์เลยก่อตั้งสำนักพิมพ์ให้นิสิตมาช่วยกันแปลหนังสือโดยมีรากฐานคืออยากส่งเสริมประชาธิปไตยผ่านหนังสือ คนที่เข้ามาร่วมก็มีไอเดียเดียวกันคืออยากเข้ามาขับเคลื่อนประเด็นทางการเมืองใหม่ๆ”



ด้วยความเชื่อที่ว่าการเขียนสามารถหล่อหลอมอุดมการณ์และสร้างวิธีคิดใหม่ๆ ให้สังคม พวกเขาจึงนิยามสำนักพิมพ์นี้ว่า ‘นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยผ่านตัวอักษร’ ที่ทำงาน ‘เขียนเพื่อประชาธิปไตย’

“ในกระบวนการทำงานของพวกเรา เราพยายามเลือกหนังสือที่สร้างมุมมองแตกต่าง เลือกประเด็นที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง คิดว่าแปลเป็นไทยจะเป็นประเด็นที่สำคัญ และจะนำไปสู่การขับเคลื่อนสำคัญในอนาคต”

ปัน–วสิษฐ์พล ตั้งสถาพรพันธ์ อีกหนึ่งสมาชิกทีมสำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่านขยายภาพแนวคิดของพวกเขาให้ฟังผ่านการยกตัวอย่างหนังสือของสำนักพิมพ์ที่พวกเขาเลือกมานำเสนอในเทศกาลหนังสือศิลปะกรุงเทพฯ ครั้งที่ 6

“อย่าง หนังสือ เจน เจคอบส์ นักคิดผู้พลิกชีวิตเมือง เล่าประเด็นที่สร้างมุมมองที่แตกต่างในเรื่องผังเมืองที่ยึดโยงกับชีวิตผู้คน เราจะเห็นว่าผังเมืองในไทยจะเอื้อให้เกิดตึกแต่เจน เจคอบส์มองว่าไม่ตอบโจทย์แล้ว เพราะผังเมืองควรมาจากวิถีชีวิตคน ไม่ใช่การสร้างเมืองอย่างเป็นระเบียบที่มองจากมุมเครื่องบินเป็นหลัก หนังสือเล่มนี้ก็เป็นการจุดประเด็นขับเคลื่อนเรื่องศาลเจ้าแม่ทับทิมด้วย”




การเลือก ‘หนังสือที่สร้างมุมมองแตกต่าง’ ของสำนักพิมพ์เชื่อมโยงกับทิศทางและบริบทสังคมในแง่ที่ว่าหากพวกเขามองเห็นสังคมขับเคลื่อนประเด็นการเมืองไปในทิศทางที่คล้ายๆ กัน พวกเขาก็อยากเสนอแนวคิดที่สวนกระแสบ้างเพื่อให้เกิดพื้นที่ถกเถียงและมุมมองใหม่ๆ มากขึ้น

“อย่างหนังสือของเจมส์ ซี สกอตต์ ชื่อ อนาธิปไตย? โคตรใช่เลย! ยังไม่เคยมีใครแปลหนังสือของนักเขียนคนนี้ เล่มนี้เป็นเล่มแรกที่ถูกแปลเป็นไทย และในไทยก็แทบจะไม่ค่อยมีหนังสือเรื่องอนาธิปไตยเท่าไหร่ เราเลยเลือกมาแปล เพราะเท่าที่สังเกต คนมักมองเรื่องอนาธิปไตยในมุมเดียว เช่น ไม่เป็นระเบียบ หัวรุนแรง ต่อต้านกฎต่างๆ จริงๆ ยังมีอนาธิปไตยในหลายรูปแบบ หลายเฉด เราเลยอยากจะเผยแพร่เพื่อมอบ narrative ใหม่ๆ ให้อนาธิปไตย คนที่สนใจจะได้มีทางเลือกในการอ่านมากยิ่งขึ้น” ปันบอกเหตุผล




ถ้าหากเอาหนังสือ อนาธิปไตย? โคตรใช่เลย! ที่ทีมสำนักนิสิตสามย่านยกตัวอย่างไปทาบทับกับสเปกตรัมทางการเมือง หนังสือเล่มนี้จะถูกจัดอยู่ปลายสุดฝั่งซ้าย และหากเอาหนังสือหลายๆ เล่มจากสำนักพิมพ์นี้ไปวางด้วยกันก็จะพบว่าส่วนใหญ่พวกเขาเลือกแปลหนังสือที่ว่าด้วยแนวคิดการเมืองค่อนไปทางซ้าย หลายเล่มยังบรรจุแนวคิดที่สังคมไทยเคยตีตราว่าเป็นบาปมาแล้ว

“ถามว่ากังวลไหมที่เอาแนวคิดทางการเมืองที่คนส่วนมากเคยต่อต้านมาเล่า พวกเราไม่กังวล เพราะเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้วที่เมื่อเอา narrative ใหม่ๆ มานำเสนอแล้วจะมีกระแสต่อต้าน ถ้ากังวลเรื่องนี้เราอาจจะไม่ได้พิมพ์หนังสือ ข้อมูลก็คงไม่มีการกระจายออกไป แต่เราทำเพราะอยากเปิดให้คนได้ถกเถียง” ปันย้ำจุดยืนแนวคิดของสำนักพิมพ์โดยมียาหยีเสริมบริบทอีกด้าน

“ถ้าพูดถึงผู้อ่าน เราคิดว่าสังคมยุคนี้น่าจะเปิดกว้างกับความคิดใหม่ๆ ระดับหนึ่งแล้ว มีคนที่สนใจหนังสือแนวนี้ หรือว่ากำลังจะสนใจหัวข้อฝ่ายซ้าย เมื่อมีหนังสือออกมาเขาก็อาจจะมาสนใจอ่านข้อมูลใหม่ๆ แต่เราก็คุยกันนะว่าตอนนี้เรามีหนังสือฝ่ายซ้ายเยอะมาก อยากจะทำหนังสือเกี่ยวกับฝ่ายขวาบ้าง”

ทีมสำนักพิมพ์นิสิตสามย่านหัวเราะระหว่างคุย ก่อนปันจะย้ำว่า “เรามีแพลนไว้แล้วว่าจะแปลเรื่องนี้ออกมา” เพื่อยืนยันว่าแนวคิดนี้ไม่ได้เป็นเพียงการแซวกันขำๆ เท่านั้น


นับรวมตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงตอนนี้ กลุ่มสำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่านผลิตหนังสือออกมาทั้งหมด 50 กว่าเล่ม ลงแรงโดยทีมงานส่วนใหญ่ที่เป็นนิสิตซึ่งไม่เคยผ่านประสบการณ์ทำหนังสือเล่มมาก่อน มีบ้างที่คนเจนสนามวงการหนังสือจะแวะเวียนมาร่วมลงมือทำงานไปด้วย เพราะสำนักพิมพ์แห่งนี้อยากเป็นพื้นที่ทดลองให้คนทั้งหน้าใหม่และรุ่นใหญ่ได้มาทำงานที่สนใจ

“เราเปิดโอกาสให้ทั้งนิสิตและคนที่อยากลองทำหนังสือ ใครอยากแปลเล่มไหน อยากทำอะไรก็มาลองทำดู มันเลยมีความเป็นธรรมชาติ (organic) มากๆ เราไม่มี KPI วัดว่าในหนึ่งปีเราต้องทำกี่เล่ม หรือต้องออกให้ทันงานหนังสือกี่เล่ม เราทำเพราะอยากเผยแพร่แนวคิด เป็นพื้นที่ทดลอง ช่วงเวลาทำงานก็ขึ้นอยู่กับการคุยกันในทีมและนักแปล บางคนเพิ่งเคยทำก็ใช้เวลานานหน่อย ไม่เป็นไร บางคนมีประสบการณ์ เคยทำมาแล้วก็คล่อง หรือบางเล่มเราได้ทุนมาสนับสนุนก็ทำงานร่วมกันในช่วงเวลาที่แต่ละโครงการกำหนด”

เพราะไม่ได้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อแสวงผลกำไร สำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่านจึงไม่ได้มีตัวชี้วัดในเชิงธุรกิจ แต่เน้นใช้การเขียนและหนังสือเป็นพลังหลักในการผลิตแนวคิดทางการเมือง อย่างที่ปันบอกว่า “ที่คุยกับคุณเนติวิทย์คือได้กำไรก็ดี ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ขอให้สามารถทำงานกันต่อไปได้เรื่อยๆ เพราะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์”




ในเชิงการเคลื่อนไหวเรื่องการเมือง กลุ่มสำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่านไม่ได้ทำงานด้วย ‘การเขียน’ เพียงอย่างเดียว ที่ผ่านมาพวกเขาสื่อสารประเด็นประโยชน์สาธารณะทั้งในรั้วและนอกรั้วมหาวิทยาลัยผ่านหลายรูปแบบ ทั้งสารคดี งานสำรวจ บทความ และอื่นๆ ด้วยเหตุผลที่ยาหยีบอกว่า “เราทำทุกอย่างที่สามารถเคลื่อนไหวประเด็นสำคัญได้”

การมุ่งหน้าขับเคลื่อนประเด็นชุมชนด้วยหลากหลายวิธีการ จึงเป็นที่มาที่พวกเขาเข้าร่วม BANGKOK ART BOOK FAIR ในครั้งนี้ เปิดพื้นที่ในการนำหนังสือออกไปพบปะกับคนอ่านกลุ่มที่หลากหลายขึ้น ขยายกลุ่มคนอ่านจากแวดวงหนังสือวิชาการไปยังคนที่สนใจในสิ่งพิมพ์ศิลปะและสิ่งพิมพ์อิสระ ซึ่งมักจะเปิดรับหนังสือที่มีความหลากหลาย

งานนี้ยังเป็นพื้นที่สำหรับ ‘หนังสือ’ และ ‘งานเขียน’ ซึ่งพวกเขาเชื่อในพลังของมันว่าสามารถจุดอุดมการณ์ทางการเมืองได้ แม้ในยุคนี้คนส่วนใหญ่จะเข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์เป็นหลักก็ตาม



“องค์ความรู้บางอย่างในหนังสือ 400 หน้าไม่สามารถแชร์ได้ในคลิปแค่ไม่ถึงหนึ่งนาที หรือบทความ 4-5 ย่อหน้า บางทีก็ต้องอาศัยการทำความเข้าใจและการใช้เวลาอ่าน ตกตะกอนกับมัน” ปันเสนอเหตุผล

“อีกอย่างคือเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อมูลในโซเชียลมีเดียเป็น echo chamber เมื่อ narrative หนึ่งถูกฟีดขึ้นหน้าจอคนเยอะๆ มันก็จะกลายเป็นกระแส ผมเลยรู้สึกว่าหนังสือคือแสงสว่างที่จะสร้าง narrative ใหม่ๆ หรือประเด็นใหม่ ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ และการขับเคลื่อนใหม่ๆ ในสังคม”

“อย่างหนังสือเรื่อง เจน เจคอบส์ เล่มนี้ เป็นต้นแบบวิธีการพูดถึงเรื่องศาลเจ้าแม่ทับทิมของเรา การอ่านหนังสือเล่มนี้ช่วยทำให้เราเห็นรายละเอียดการสร้างเมืองที่นึกถึงวิถีชีวิตผู้คน แล้วเอามาคิดต่อในสิ่งที่เกิดขึ้นกับที่ไทยได้”


พ้นไปจากบทบาทที่มีต่อผู้อ่าน ยายีมองว่าการเขียน การแปล และหนังสือยังมีบทบาทในฐานะพื้นที่ทดลองของนิสิตและคนที่สนใจหนังสือการเมืองด้วย

“ส่วนตัวคิดว่าการเขียนทำให้ตกผลึก เขียนแล้วกลับมาอ่าน ได้คุยกับตัวเอง เถียงกับตัวเอง คิดต่อจากที่เขียน ซึ่งความรู้สึกอาจจะแตกต่างจากการบันทึกภาพหรือลงภาพในโซเชียลมีเดีย”



แม้จะไม่ใช่สำนักพิมพ์ใหญ่ ไม่มีข้อกังวลเรื่องผลกำไร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคที่ความนิยมอ่านหนังสือลดลงย่อมส่งผลต่อการทำหนังสือทั่วทุกหัวระแหง ปันยอมรับว่ามีบ้างที่สำนักพิมพ์นิสิตสามย่านต้องลดยอดการพิมพ์ลง แต่สิ่งนี้ก็ไม่ใช่เหตุผลหลักที่จะทำให้พวกเขาเลิกทำในสิ่งที่พวกเขาเชื่อ

“การที่คนอ่านหนังสือน้อยลงไม่ได้เป็นสาเหตุให้เราหยุดพิมพ์หนังสือ เพราะว่าหนังสือมีความสำคัญ ถ้าเรามองว่าคนอ่านน้อย เราไม่ควรทำหนังสือ ก็ไม่ต่างกับวิธีคิดที่มองว่าคนไปศาลเจ้าแม่ทับทิมน้อย งั้นทุบศาลเจ้าแม่ทับทิมเลยสิ

“ถ้าเราหยุดทำหนังสือก็เหมือนเราไปสนับสนุนให้คนเลิกอ่านหนังสือด้วย ตรงข้ามกับการที่สร้างหนังสือที่หลากหลาย เป็นทางเลือกให้คนอ่านได้มากขึ้น” ปันสรุป