BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 |  

︎BKKABF2023 VISIT

Venue : Asia Hotel Bangkok


Event Dates :

BKKABF Symposium :
Thursday 30.NOV.2023
13.00 – 17.00

BKKABF Fair Dates :
Friday 01.DEC. – Sunday 03.DEC.2023

BKKABF Fair Hours :
13.00 – 20.00

Ticket :
General Public : 150 THB/day
Students : 100 THB/day
Children Under 12 : Free entry
For more information, please contact :
contact@bangkokartbookfair.info

© 2023 BKKABF
Initiated by STUDIO150 in partnership with BANGKOK CITYCITY GALLERY since 2017, BANGKOK ART BOOK FAIR (BKKABF) is an annual event aimed to bring together self-publishing and co-creating community to contribute in discovering and exchanging ideas, cultural ideals, and artistic aspirations.


A
BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 |  

︎UPDATE  ︎EXHIBITOR  ︎VISIT
︎PAST EVENT

A
A
เรื่อง : คาลิล พิศสุวรรณ
ภาพ : ณัฐวุฒิ เตจา


ในงาน BANGKOK ART BOOK FAIR หลายครั้งที่ผ่านมา เรามักจะได้เห็นกลุ่มศิลปินแท็กทีมกันมาเปิดโต๊ะขายซีน (zine) และสินค้าต่างๆ ร่วมกัน อย่างใน BKKABF2023 ครั้งนี้ T-WEST และ BUAMS STORE คือสองกลุ่มศิลปินที่จับคู่กันมาเปิดโต๊ะขายของ–สองกลุ่มศิลปินที่หากดูเผินๆ อาจรู้สึกว่าสไตล์ของพวกเขาดูจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะในขณะที่ตัวตนของ BUAMS ดูจะบ้าบอและชวนให้นึกถึงวัยเด็ก ผลงานของ T-WEST กลับสะท้อนผ่านงานกราฟิตีที่แสบสันและดุดัน



แม้ว่าสไตล์และผลงานของ T-WEST และ BUAMS จะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่หลังจากที่ได้พูดคุยกับทั้งคู่เรากลับพบว่าศิลปินทั้งสองกลุ่มล้วนทำงานอยู่บนความเชื่อคล้ายๆ กัน นั่นคือความสนุกในการปลดปล่อยความเป็นตัวเองออกมา และการมองซีนเป็นหนึ่งใน ‘เครื่องมือ’ (medium) สำหรับนำเสนอไอเดียใหม่ๆ ของพวกเขา

ถึงตรงนี้ ก่อนจะไปพบกับพวกเขาใน BKKABF เราลองไปทำความรู้จักกับ T-WEST และ BUAMS และซีนที่บรรจุไอเดียอะไรก็ได้ของพวกเขากันสักหน่อยดีกว่า


TEMPORARY WEST

กลุ่มศิลปินสตรีทที่ใช้ซีนเป็นลานทดลองเทคนิคใหม่

T-WEST หรือ TEMPORARY WEST คือการรวมกลุ่มกันของศิลปินกราฟิตี 10 คน ได้แก่ Y?, MR.KREME, HOIE, MONTEMITH, FREAK, R-KOI, YOUNGPRAY, ORON, PICABOO, DEIO โดยมีจุดเริ่มต้นจากการที่หนึ่งในสมาชิกอย่าง Y? อยากกลับไปทำสตรีทอาร์ตที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บ้านเกิดของเขา




“เรารู้สึกว่าการเริ่มต้นทำสตรีทอาร์ตที่ต่างจังหวัดน่าจะง่ายกว่ากรุงเทพฯ เพราะอย่างน้อยๆ คนที่นั่นก็คุยง่ายกว่า อีกอย่างคือ ถ้าเราเริ่มต้นที่โน่น ต่อให้พ่นไม่สวยอย่างน้อยมันก็ไม่เขิน พอเราพ่นงานแรกเสร็จเราก็เริ่มชวนเพื่อนๆ มาทำด้วยกันเพราะคิดว่าถ้าได้ทำหลายๆ คนมันน่าจะไม่เหงา” Y? เล่าถึงการเริ่มรวมกลุ่มกันของ T-WEST

ด้วยความที่เป็นกลุ่มเพื่อนตามๆ กันมา ไม่ได้มีจุดประสงค์ที่ชัดเจนมากไปกว่าการไปพ่นกำแพงเล่นที่ต่างจังหวัด Y? จึงตั้งชื่อกลุ่มเล่นๆ ว่า TEMPORARY WEST หรือ ‘ตะวันตกชั่วคราว’ เพราะเขามองว่าการรวมกลุ่มกันครั้งนี้อาจเป็นแค่โปรเจกต์ชั่วคราวเท่านั้น แต่ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่า เป้าหมายในการพ่นกำแพงที่บางสะพานกลับจริงจังขึ้นเมื่อ Y? อยากจะสร้างสตรีทอาร์ตเลนเหมือนอย่างที่เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย และจอร์จทาวน์ ประเทศมาเลเซีย ให้กับบ้านเกิดของเขาบ้าง

“เราถามเพื่อนอีก 9 คนที่ชวนมาว่า อยากจะทำโปรเจกต์นี้ด้วยกันไหม จนในที่สุดมันก็กลายเป็นเป้าหมายแรกของ T-WEST” Y? อธิบาย

นั่นเองเป็นจุดเริ่มต้นให้ T-WEST เริ่มทำงานร่วมกับชุมชนบางสะพานอย่างจริงจัง โดยที่พวกเขาตระเวนไปพ่นกำแพงตามโซนต่างๆ ในเมือง รวมถึงย่านตลาดเก่าที่ดูเหมือนจะร้าง แต่เมื่อปรากฏงานศิลปะขึ้นในบริเวณนั้น มันก็พลอยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้แวะเวียนมาถ่ายรูป รวมถึงช่วยให้คนในชุมชนขายของได้อีกด้วย

“สำหรับเด็กต่างจังหวัด กิจกรรมของเราไม่ได้หลากหลายเท่าเด็กกรุงเทพฯ เราเลยคิดว่าถ้าสามารถทำให้บางสะพานมีจุดท่องเที่ยวได้ก็คงดี เพราะต่อให้หัวหินเจริญก็จริงแต่มันไม่ได้แปลว่าอำเภออื่นๆ ในประจวบฯ จะเจริญตามไปด้วย เราเลยอยากจะสร้างเอกลักษณ์ให้กับบ้านเกิดของเราเพื่อที่ว่าถ้ามีคนมาเที่ยวเยอะขึ้น ประชากรเยอะขึ้น อาชีพมันก็จะหลากหลายขึ้นด้วย”  Y? เน้นย้ำถึงเป้าหมายของ T-WEST

แต่นอกจากการสร้างสรรค์กำแพงที่บางสะพานแล้ว T-WEST เองก็ยังมีอีกหลายโปรเจกต์ที่น่าสนใจภายใต้ medium ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการสตรีทอาร์ต ‘To All Bystanders’ ที่พวกเขาจัดร่วมกับ JWD Art Space ไปจนถึงการทำซีนของสมาชิกแต่ละคน



“เรามองว่าซีนกับสตรีทคัลเจอร์มันเชื่อมโยงกันอยู่แล้ว อย่างศิลปินสตรีทบางคนก็จะทำหนังสือ behind the scene ที่รวมเบื้องหลังการทำงานของเขา” Y? อธิบายเพิ่มว่าเหตุผลที่ซีนเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของศิลปินสตรีทอาร์ทอาจเป็นเพราะงานพ่นกำแพงเป็นงานที่จะหายไปวันใดก็ได้ แต่หากเก็บมันไว้ในรูปแบบของสิ่งพิมพ์ก็ย่อมมั่นใจได้ว่างานนั้นจะถูกบันทึกไว้ตลอดไป

“ซีนมันเป็นรูปแบบสื่อชนิดหนึ่งที่วนเวียนอยู่ใกล้ๆ เราตลอด เพียงแต่อาจไม่ค่อยได้หยิบจับมาใช้งานเป็นกิจลักษณะเท่านั้น”

ถึงอย่างนั้น สมาชิก T-WEST ก็เคยหยิบซีนของพวกเขามาออกบูธในงาน BANGKOK ART BOOK FAIR มาแล้วสองครั้ง โดยที่ในปีนี้พวกเขาก็กลับมาพร้อมกับซีนใหม่ๆ ที่น่าสนใจ อย่าง FREAK ที่มากับซีนชื่อ Sugar High ถ่ายทอดความน่ากลัวของการเสพติดน้ำตาลผ่านการตีความขนมหวานเป็นปีศาจ ส่วน HOIE ก็มีซีนชื่อ How to Stretch Before Sk8 เล่าถึงวิธีการยืดเส้นก่อนเล่นสเกตบอร์ด

“เราชอบทำหนังสือเพราะมันเป็นความสนุกอีกแบบในการแสดงอาร์ตเวิร์คของเรา เป็นการฝึกทำอะไรหลายๆ อย่างในเล่มเดียว เช่น เราจะดีไซน์คาแรกเตอร์ยังไง เรียบเรียงเรื่องยังไง การทำซีนมันก็เหมือนกับการที่สมาชิก T-WEST ได้ฝึกวิชาส่วนตัวแต่ละคน” FREAK เล่าถึงความสนุกของเขาในการทำซีน

แต่แม้ว่าการทำซีนจะดูเป็นโปรเจกต์เดี่ยว ทว่าโจทย์สำคัญที่สุดของ T-WEST ก็ยังคงเป็นการสร้างทีมที่มีประสิทธิภาพเพื่อยกระดับการทำงานทั้งของกลุ่มและของสมาชิกแต่ละคน



“เราอยากให้ T-WEST เป็นทีมที่โตขึ้นไปเรื่อยๆ และสร้างบรรยากาศที่บังคับให้ทุกคนพัฒนา มีงานที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่ย่ำอยู่กับที่ เราอยากให้ T-WEST เป็นทีมที่ทำให้ทุกคนเก่งขึ้น” Y? เน้นย้ำทิ้งท้าย



BUAMS Store

ร้านขายของ ‘ไม่จำเป็น’ ที่มีซีนเป็นหนึ่งในสินค้าเด่นของร้าน

BUAMS Store คือร้านขายของที่ระลึกที่บอกกับคนอื่นว่าเป็น ‘ร้านขายของไม่จำเป็น สะสมสิ่งของท้องถิ่นไม่จำเป็นและสินค้าไม่จำเป็นที่ทำกันขึ้นมาเอง (แต่บางครั้งคุณอาจต้องการมันก็ได้)’ ฟังดูขำๆ แต่ถ้าได้เห็นสินค้าที่เรียงรายอยู่ในร้านแห่งนี้ คุณอาจรู้สึกว่าประโยคข้างต้นจริงจังไม่ใช่เล่น เพราะสิ่งของที่วางขายอยู่ที่ BUAMS นั้นมีตั้งแต่ของเล่นที่หาซื้อได้ตามสำเพ็ง กำยาน ของเก่าๆ ที่เก็บมาจากบ้าน ไปจนถึงเตาไฟฟ้าเลยทีเดียว



แต่พร้อมๆ กับที่ BUAMS Store คือร้านขายของไม่จำเป็น ห้องเล็กๆ แห่งนี้ยังเป็นสตูดิโอของสองศิลปินอย่าง เจ วัฒนกุลจรัส และ จิ๊บ–พีรดา พัวภูมิเจริญ หรือ ‘Stupid Shit’ อีกด้วย

“เราทำงานกับพี่เจอยู่ก่อนแล้ว พอตัดสินใจย้ายสตูดิโอมาที่นี่เราก็อยากทำอะไรใหม่ๆ เลยเกิดเป็นร้านนี้ขึ้นมา” จิ๊บเล่า

ส่วนเจอธิบายว่าแรงบันดาลใจที่อยากจะเปิดร้านนั้นมาจากเวลาไปเที่ยวต่างประเทศแล้วเจอร้านขายสินค้าแปลกๆ ที่ดูเป็นของ sub-culture และ underground ที่หาไม่ได้ตามห้างสรรพสินค้า ซึ่งในไทยยังไม่ค่อยมีร้านประเภทนี้เท่าไหร่ ทั้งคู่เลยตัดสินใจเปิด BUAMS Store ในฐานะร้านค้าที่จะคัดเลือกสินค้าต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับวัยเด็กของพวกเขาและวัฒนธรรมที่เติบโตมา เห็นได้จากชื่อร้าน BUAMS ที่ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากแบรนด์ญี่ปุ่นอย่าง Beams และมังงะเรื่อง คุโรมาตี้ โรงเรียนคนบวม



“อีกแรงบันดาลใจคือพอคิดย้อนไปถึงสมัยเด็ก พ่อแม่ชอบพาไปร้าน ‘อูอิ๊ง’ ที่ดิโอลด์สยาม เป็นร้านขายของเล่นแปลกๆ เรื้อนๆ เฮี้ยนๆ ที่เจ้าของร้านเอาของเล่นในร้านมาแกล้งจนเราร้องไห้และจำฝังใจตั้งแต่นั้นมา ฟังดูเหมือนว่าจะไม่ชอบใช่มั้ยแต่เดาว่าจริงๆ ลึกๆ เราอาจจะชอบที่นี่มากก็เป็นได้ บวกกับที่บ้านก็ทำธุรกิจของชำร่วยและของจุ๊กจิ๊กเหมือนกัน คิดว่าคงได้อะไรมาจากตรงนี้เหมือนกัน” เจบอก

“แต่ร้านนี้ยังไม่เคยเปิดอย่างเป็นทางการเลยนะ” จิ๊บเสริมขึ้น “เพราะต่างคนต่างยุ่ง แล้วเราก็แต่งร้านไปเรื่อยๆ ไม่พอใจสักที แต่จริงๆ BUAMS ก็ไม่ได้มีเป้าหมายที่ชัดเจนหรอกว่าต้องมีคอนเซปต์แบบไหนหรือเรื่องราวแบบใด แต่เรามองว่าร้านมันจะแสดงออกภาวะในช่วงเวลานั้นๆ ของเรามากกว่า เพราะฉะนั้น BUAMS มันก็จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามตัวตนของเราที่เปลี่ยนไป” จิ๊บเล่า



แม้ว่าจะไม่เคยเปิดอย่างเป็นทางการ ถึงอย่างนั้น BUAMS Store ก็มีลูกค้าที่ส่วนใหญ่มักจะเป็นชาวต่างชาติที่หากไม่เดินหลงเข้ามาเองก็มักจะรู้จักจากการบอกปากต่อปาก โดยมีกำยานเป็นหนึ่งในสินค้าของร้านที่ขายดีเป็นพิเศษ แต่พ้นไปจากการที่ BUAMS Store สามารถสร้างการรับรู้เล็กๆ ในกลุ่มนักท่องเที่ยวแล้ว สตูดิโอกึ่งร้านค้าแห่งนี้ยังกลายเป็น node เล็กๆ ที่คอยเชื่อมโยงกลุ่มเพื่อนๆ ของเจและจิ๊บ ทั้งในแง่ที่พวกเขาได้จัด BUAMS Music Club Vol.1 ที่ทั้งคู่ชักชวนมิตรสหายนักดนตรีมาจัดอีเวนต์ฟังเพลงชิลๆ ไปจนถึงการเป็นพื้นที่ตรงกลางสำหรับวางขายผลงานต่างๆ ของเหล่าเพื่อนศิลปิน ไปจนถึงซีน

“ซีนที่คัดเลือกมาขายส่วนมากเป็นของเพื่อนๆ กันเอามาวางขาย แต่ที่เราสนใจเป็นพิเศษคือซีนจากคนที่ไม่ได้ทำซีนบ่อยๆ หรือคนที่เราไม่คิดว่าจะทำ ยิ่งถ้าเป็นเพื่อนเราก็ยิ่งดีเพราะจะมีขายที่ร้านเราร้านเดียว”



สำหรับเจ ซีนคือช่องทางหนึ่งที่สามารถช่วยให้เขาถ่ายทอดบางสิ่งภายในใจออกมาได้ โดยที่ผลลัพธ์ของมันก็น่าสนใจกว่าเครื่องมือ (medium) อื่นๆ ส่วนจิ๊บมองว่าแม้ว่าเครื่องมือต่างๆ จะมีวิธีการปลดปล่อยความคิดที่แตกต่างกันไป แต่เหตุผลที่เธอชอบซีนก็เพราะมันสนุกและทำให้ได้เห็นมุมมองใหม่ๆ ของศิลปินแต่ละคน



“ซีนมันสนุกนะ มันอยู่บนกระดาษก็จริงแต่ก็ทำให้เราได้เห็นอะไรเยอะเพราะมันไม่ตายตัว อย่างบางคนแค่ถ่ายรูปอาม่าตัวเองมารวมเล่มก็เป็นซีนแล้ว สำหรับเราซีนมันเลยเป็นอะไรที่เปิดโลกมาก การได้เห็นไอเดียใหม่ๆ ลูกเล่นใหม่ๆ ของศิลปินและเพื่อนๆ ของเรามันทำให้ซีนสนุกอยู่ตลอด” จิ๊บยกตัวอย่างถึงซีนของตัวเองไม่ว่าจะเป็นการหยิบคาแรกเตอร์ของ Stupid Shit มาเล่าในสไตล์การ์ตูนช่อง ไปจนถึงการพาตัวละครเหล่านั้นไปเที่ยวประเทศต่างๆ ผ่าน Google Maps ซึ่งล้วนเกิดจากไอเดียของการอยากเล่นสนุกทั้งนั้น

“ตอนเด็กๆ เราจะมีความคิดว่า ต้องทำอะไรสักอย่างที่มันมีคุณค่า แต่หลังๆ เรากลับพบว่า มันไม่มีอะไรที่มีคุณค่าจริงๆ หรอก แค่ทำอะไรที่สนุกก็พอ มันยิ่งทำให้เราสร้างสรรค์งานได้สนุกขึ้นมาก อย่างเวลาไปออกอีเวนต์ต่างๆ ก็ไม่ใช่ทุกครั้งที่ซีนของเราจะขายได้ แต่การที่ได้เห็นว่ามีคนสนใจ มีคนมาเปิดซีนดู หรือมีคนมาถามถึงมัน แค่นี้เราก็ดีใจแล้วที่ได้เล่าสิ่งที่ตัวเองทำ มันอิ่มนะต่อให้เขาจะไม่ได้ซื้อก็ตาม”