BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 |  

︎BKKABF2023 VISIT

Venue : Asia Hotel Bangkok


Event Dates :

BKKABF Symposium :
Thursday 30.NOV.2023
13.00 – 17.00

BKKABF Fair Dates :
Friday 01.DEC. – Sunday 03.DEC.2023

BKKABF Fair Hours :
13.00 – 20.00

Ticket :
General Public : 150 THB/day
Students : 100 THB/day
Children Under 12 : Free entry
For more information, please contact :
contact@bangkokartbookfair.info

© 2023 BKKABF
Initiated by STUDIO150 in partnership with BANGKOK CITYCITY GALLERY since 2017, BANGKOK ART BOOK FAIR (BKKABF) is an annual event aimed to bring together self-publishing and co-creating community to contribute in discovering and exchanging ideas, cultural ideals, and artistic aspirations.


A
BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 | BANGKOK ART BOOK FAIR 2023 | TALK EVENT : 30.NOV.2023 | FAIR DATES : 01.-03.DEC.2023 |  

︎UPDATE  ︎EXHIBITOR  ︎VISIT
︎PAST EVENT

A
A


เป็นเวลากว่า 8 ปีแล้วที่ Studio Marketing Materials (SMM) ออกเดินทางในฐานะดีไซน์สตูดิโอที่ดูแลและกำหนดทิศทางด้านการสื่อสารงานภาพให้กับแบรนด์ต่างๆ มากมาย หลายรูปแบบสื่อ

ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา นอกจากจะทำงานเชิงพาณิชย์ซึ่งเป็นงานหลักของสตูดิโออย่างการออกแบบพื้นที่ ออกแบบอัตลักษณ์องค์กร (Corporate Identity) หรือการออกแบบเพื่อใช้ในสื่อออนไลน์ ความโดดเด่นอีกข้อของ SMM คือการทำโปรเจกต์ส่วนตัวของสตูดิโอควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง

ตัวอย่างโปรเจกต์ส่วนตัวชิ้นหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้ที่ SMM จัดนิทรรศการ ‘สะพานควาย วาไรตี้’ เล่าเรื่องของย่านสะพานควายผ่านงานออกแบบชนิดต่างๆ ความน่าสนใจของนิทรรศการไม่ได้อยู่ที่ผลลัพธ์เท่านั้น แต่สองผู้ก่อตั้งสตูดิโอ SMM อย่าง จารุตม์ จันทร์ประภานนท์ (จ๊าค ) และ กำพล พรพิสูตร (กอล์ฟ) อยากให้ทีมนักออกแบบของพวกเขาได้พัฒนาความสามารถของตนเองผ่านกระบวนการทำโปรเจกต์มากกว่า



และในปีเดียวกันนี้ เป็นครั้งแรกที่ SMM ได้ริเริ่มให้นักออกแบบแต่ละคนของสตูดิโอทำโปรเจกต์ทดลองในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีหน้าตาและวิธีการสื่อสารแตกต่างกันไปตามความสนใจ และนำมาจัดแสดงใน BANGKOK ART BOOK FAIR 2023

กำพลเล่าจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์นี้ให้เราฟังว่าเกิดจากแนวคิดตั้งต้นที่อยากให้ทุกคนในทีม ‘ต้องไม่ทำแค่งานออกแบบอย่างเดียว’ แต่เข้าใจการออกแบบทั้งกระบวนการ เพราะสุดท้ายแล้วความรู้ความเข้าใจที่เกิดขึ้นนี้จากโปรเจกต์ทดลองนี้ย่อมส่งผลดีต่อการทำโปรเจกต์เชิงพาณิชย์ซึ่งเป็นงานหลักของสตูดิโอ

“เราอยากให้ทุกคนได้ผ่านกระบวนการทำสิ่งพิมพ์ด้วยตัวเองแล้วจะได้เข้าใจการทำงานออกแบบตั้งแต่ต้นจนจบมากขึ้น เพราะตอนนี้ น้องๆ หลายคน เช่น บีก็แบบ ‘โอเค ฉันดีไซน์เสร็จแล้ว จบ’ แต่พอเข้าสู่กระบวนการโปรดักชั่นปรากฎว่าแพงมาก

“เราก็เลยคิดว่าโปรเจกต์นี้เป็นโปรเจกต์ที่ดีที่จะทำให้ทุกคนได้ลองแก้ปัญหา โดยออฟฟิศมีเงินทุนในการผลิตและออกค่าบูธให้ แต่มีข้อแม้คือเงินนี้ให้ยืมเฉยๆ นักออกแบบแต่ละคนต้องไปจัดการ ไปขายงาน เสร็จแล้วเราก็จะกลับมาดูว่าขาดทุน-กำไรยังไง เราคิดว่าถ้าเราให้เงินในการทำฟรีๆ เขาจะไม่ได้เรียนรู้ ดังนั้นวิธีการนี้มันจึงเป็นเหมือนการตั้งคำถามว่าลองดูสิว่าแต่ละคนจะบริหารจัดการยังไง”

สิ่งที่นักออกแบบแต่ละคนจะได้ทำในโปรเจกต์นี้คือการคำนวณต้นทุนในการผลิต การตั้งราคาขาย การประเมินกำไรที่จะได้รับ ไปจนถึงการแก้ไขปัญหาเหนือความคาดหมาย ซึ่งการแก้ไขปัญหานี่แหละคือสิ่งที่สองผู้ก่อตั้งสตูดิโออยากให้ทีมได้เรียนรู้ด้วยตัวเองมากที่สุด

“ก่อนหน้านี้ แม้ว่าทุกคนจะทำโปรเจกต์ต่างๆ ร่วมกันแต่ว่าทิศทางจะมาจากเราหรือจ๊าค ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหา วิธีคิดในการแก้ไขจึงมาจากเรากับจ๊าคมากกว่า กระบวนการแก้ไขปัญหามันอยู่กับเราแต่เราอยากให้กระบวนการแบบนี้เกิดขึ้นกับทีมทุกคนแทน” กำพลเล่า



โจทย์ด้านรูปแบบคือการทำสิ่งพิมพ์มาจัดแสดงและจำหน่ายใน BANGKOK ART BOOK FAIR ส่วนโจทย์ด้านเนื้อหานั้น ทีมนักออกแบบของสตูดิโอตกลงร่วมกันว่าทุกคนจะผลิตหนังสือในหัวข้อการ ‘ก้าวข้ามขีดจำกัด’ ของตัวเอง

“เราเริ่มต้นด้วยการคุยกันว่าอยากให้แต่ละคนได้ทำงานที่เป็นตัวเอง พยายามหาข้อจำกัดหนึ่งที่ทุกคนมีร่วมกัน เราคิดว่าทุกคนทำงานกราฟิกเหมือนกันแต่สไตล์แตกต่างกัน ต่างคนต่างมีจุดเด่นและจุดด้อยเป็นของตัวเอง เลยนำมาสู่ความคิดว่าเอาเรื่อง ‘limitation’ หรือ ‘ข้อจำกัด’ มาเล่าดีกว่า” ธาม แววเกกี หนึ่งในนักออกแบบของสตูดิโอเล่า

“งานของทุกคนมีคอนเซ็ปต์เดียวกันคือ ‘limitation’ หรือการทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัด แต่ว่าเราจะเล่าเรื่องสิ่งที่ไม่ถนัดด้วยความถนัดทางด้านกราฟิกของเรา มันก็เลยเป็นเหมือนการเล่าเรื่องความเป็นตัวเองของแต่ละคนแบบองค์รวม”

งานที่แต่ละคนสร้างสรรค์ขึ้นมานั้นมีทั้งงานที่วาดด้วยมือซ้าย การทำงานพิมพ์ที่จำกัดว่าพิมพ์ได้แค่สามเลเยอร์เท่านั้น ไปจนถึงปฏิทินที่ออกแบบด้วยแนวคิดว่าอยากจะแก้ไขปัญหาการทำงานที่ใช้เวลามากเกินไปของตัวเอง!

และนอกจากโจทย์ในขั้นตอนการออกแบบจะเป็นเรื่องข้อจำกัด ในขั้นตอนถัดไปอย่างการผลิต นักออกแบบแต่ละคนก็ต้องเผชิญกับข้อจำกัดที่ไม่คาดคิดเช่นกัน



“โครงสร้างปฏิทินของเราเป็นโครงสร้างที่พิเศษนิดหนึ่ง ต้องตัดกระดาษหลายส่วนและใช้หลายสีด้วย ข้อจำกัดของเราคือถ้าเราอยากพิมพ์ให้สีสวยราคาก็จะแพงตอนนี้เราจึงต้องพยามหาวิธีประนีประนอม (compromise) กับเรื่องนี้ให้ได้ เรามีสองตัวเลือกคือพิมพ์ดิจิทัลแล้วยอมให้สีสดน้อยลงนิดหนึ่ง หรือยอมพิมพ์ราคาแพงที่สีสดแล้วมาเข้าเล่มเองแบบ handmade ตอนนี้เรากำลังรอ quotation อยู่ว่าแบบไหนจะดีที่สุด” ลีน่า บี กิลลิส นักออกแบบผู้ตีความข้อจำกัดออกมาเป็นปฏิทินในแบบฉบับของเธออธิบายปัญหาที่ต้องเจอ

นัฐกร จันทร์แจ้ง ก็เป็นอีกคนที่เจอกับข้อจำกัดเรื่องสี “ผมอยากใช้สีเงินแต่พอไปได้คุยกับโรงพิมพ์แล้ว ถึงรู้ว่าเราอาจจะทำงานสีเงินเมทัลลิกอย่างที่คิดไม่ได้เพราะข้อจำกัดของการพิมพ์ดิจิทัล เราเลยต้องหาวิธีที่จะทำให้งานออกมาดูคล้ายสีเงินเมทัลลิกมากที่สุด”

นัฐกรเล่าต่อว่าอีกข้อจำกัดที่พวกเขาต้องเจอและบริหารคือเรื่องของเวลา “มีน้องคนหนึ่งจะพิมพ์กระดาษยาวมาก หลายเมตรเลยแต่โรงพิมพ์ทำไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนใหม่ ปกติถ้าเราทำแค่ขั้นออกแบบเฉยๆ เราจะไม่เผื่อเวลาไว้แต่การทำโปรเจกต์นี้กลายเป็นว่าเราต้องเผื่อเวลาโปรดักชั่นไว้อีกเยอะมากเพราะว่าสุดท้ายแล้วพาร์ทนี้เป็นส่วนสำคัญมากที่จะทำให้งานของเราสมบูรณ์”



แม้จะเป็นโปรเจกต์ส่วนตัวแต่พวกเขาก็มองว่าเมื่อจบโปรเจกต์นี้ สิ่งที่ได้เรียนรู้ระหว่างทางนั้นสามารถนำไปปรับใช้กับงานอื่นๆ เช่น งานเชิงพาณิชย์ของลูกค้าได้แน่นอน

“พอต้องดูเรื่องโปรดักชั่นมันจะหัดให้เรารีเสิร์ชเป็น ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราคงไม่ได้คิดถึงออพชั่นการเข้าเล่มเอง เหมือนเราคิดว่าถ้าเราส่งแบบให้โรงพิมพ์ดูแล้วเขาจะทำได้เลย แต่ตอนนี้ที่เราดูงานทุกขั้นตอนเราถึงเห็นว่าเราอาจจะทำที่โรงพิมพ์ไม่ได้เพราะมันแพงเกินไปมากๆ เป็นประสบการณ์ที่ทำให้เราโตขึ้น ถ้าต่อไปเราต้องทำสิ่งนี้เองเราก็จะรู้แล้วว่าต้องทำยังไง” ลีน่าเล่าโดยมีนัฐกรเสริมว่า

“ผมเป็นคนชอบกระดาษ เมื่อก่อนเก็บสะสมพวกโปสเตอร์ โปสการ์ดแต่ไม่เคยไปดูวิธีทำว่าแต่ละวิธีให้ผลลัพธ์ต่างกันยังไง แกรมกระดาษต่างกันก็ต้องพิมพ์ในเครื่องต่างกัน หรือเพิ่งรู้ว่าไม่ใช่ว่าทุกที่จะพิมพ์สีเงินเมทัลลิกได้ งานนี้เลยเป็นการผจญหา ต้องโทรคุย ต้องมีการทดลอง กลายเป็นว่าเราได้รู้ขั้นตอนในส่วนเหล่านี้มากขึ้น เพราะเมื่อก่อน เราออกแบบเสร็จปุ๊บก็จะส่งให้ลูกค้าไปดีลเองเลย

“พอได้ดีลมากขึ้นก็รู้สึกสนุกมากขึ้น เช่น ได้รู้ว่ากระดาษมีหลายประเภทมากๆ และสำหรับการจะถ่ายทอดภาพในหัวเราให้สมบูรณ์ ถ้าเลือกกระดาษผิดชีวิตเปลี่ยน มันทำให้เรารู้ว่าต่อให้ทำงานหนักมาแค่ไหนแต่ถ้าไม่ได้สนใจไปถึงขั้นว่าจะพิมพ์ลงกระดาษอะไรมันก็กลายเป็นว่าที่ทำมาก็หายหมด”

ถึงตรงนี้ สิ่งที่นักออกแบบชาว SMM แชร์ให้ฟังทำให้เราเห็นภาพชัดเจนว่าโปรเจกต์นี้สร้างการเรียนรู้ที่เป็นผลดีต่อการทำงานเชิงพาณิชย์อย่างไร แต่สิ่งที่น่าตั้งคำถามอีกอย่างคือทำไมพวกเขาต้องใช้ ‘สิ่งพิมพ์’ เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ ทั้งๆ ที่งานส่วนใหญ่ของพวกเขามีผลลัพธ์อยู่ในหน้าจอเสียมากกว่า



“ตอนแรกโจทย์ของเราไม่ได้มองว่าจะมีปลายทางเป็นสิ่งพิมพ์หรอก แต่หลายๆ อย่างประกอบกันมันเลยออกมาเป็นสิ่งนี้ อย่างแรก เพราะปลายทางของเราคือการไปออกบูธที่ BANGKOK ART BOOK FAIR แหละ ทุกคนก็เลยคิดว่าปลายทางจะพิมพ์อะไรสักอย่าง เป็นหนังสือ โปสเตอร์ โปสการ์ด หรืออื่นๆ

“อีกเหตุผลคือสิ่งพิมพ์มันสามารถพิมพ์ออนดีมานด์ ทำในจำนวนไม่เยอะได้ซึ่งเหมาะกับการทดลองทำโปรเจกต์บางอย่างหรือการทำไอเดียให้ออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน ซึ่งพองานมันออกมาเป็นชิ้น ความรู้สึกมันต่างกับเวลามันเป็นไฟล์ภาพในคอมมากเลย” กำพลเล่า

“เสน่ห์ของสิ่งพิมพ์คือบางเรื่องมันถ่ายทอดผ่านเท็กซ์เจอร์ได้ สมมติเล่าเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติ ถ้าใช้กระดาษเงามันก็ดูไม่ธรรมชาติแล้ว แต่ถ้าเราใช้กระดาษที่ที่มีเท็กซ์เจอร์เป็นปุ่มหน่อยมันก็เหมือนเสริมเรื่องนั้นให้ดูมีมิติมากขึ้น” พวกเขาช่วยกันอธิบาย

สำหรับในงาน BANGKOK ART BOOK FAIR ปีนี้ กำพลบอกว่านอกจากจะอยากชวนทุกคนมาดู มาอุดหนุนผลงานของทีมแล้ว เขายังอยากให้กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นที่ Studio Marketing Materials ถูกแชร์ออกไปในวงนักออกแบบและผู้ที่สนใจศิลปะและงานออกแบบด้วย

“เราอยากให้ได้มาพูดคุยกับทีม ได้มาคุยว่างานที่แต่ละคนเริ่มทำด้วยตัวเองต้องเจออะไรบ้าง หรือมารู้จักกันไว้ก็ได้”



นักออกแบบ 6 คน 6 ผลงาน ในโปรเจกต์ที่ทำให้พวกเขาก้าวข้ามข้อจำกัด
ผลงานที่พวกเขานำมาร่วม BKKABF มีอะไรบ้าง ไปดูกันได้ที่ด้านล่างนี้

1. IMPERFECTION
By กันตินันท์ พูนศรีพัฒนา

“ข้อจำกัดของผมคือการสร้างภาพด้วยมือซ้าย ปกติแล้วผมถนัดวาดภาพด้วยมือขวาเลยอยากท้าทายตัวเองด้วยการสร้างงานผ่านมือซ้ายไปเรื่อยๆ ร่วมกับการใช้องค์ประกอบอื่นๆ ที่ผมไม่ถนัด งานชิ้นนี้ให้ความรู้สึกเหมือนการบำบัดอยู่เหมือนกันเพราะการทำงานที่ต้องสมบูรณ์แบบก็มาพร้อมกับความกดดันในบางที การได้ทำงานชิ้นนี้จึงช่วยให้ผ่อนคลายมากขึ้น”

2. Template Ruler
By นัฐกร จันทร์แจ้ง

“ปกติผมวาดภาพประเภทที่สื่อสารออกไปตรงๆ ภาพสัตว์ก็ต้องดูเป็นสัตว์ ภาพดอกไม้ก็ดูเป็นดอกไม้เลยอยากลองวาดภาพนามธรรมดูบ้างซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถนัดเลย ข้อจำกัดอีกอย่างคือเครื่องมือ ผมไปเจอเครื่องมือ Template Ruler เป็นไม้บรรทัดลายฉลุที่เอาไว้วาดภาพซ้ำ มันจะย้อนแย้งพอสมควรตรงที่ลายฉลุมันสื่อสารภาพที่ชัดเจน เช่น ดอกไม้ที่ดูออกว่าเป็นดอกไม้แต่เราจะเอาสิ่งนี้มาสร้างภาพนามธรรมให้ได้”

3. A Perpetual Calendar
By Lina Bee Gillis (ลีน่า บี กิลลิส)

“ข้อจำกัดที่บีผสมผสานเข้ามาในโปรเจกต์คือเรื่องเวลา ทุกทีเวลาเริ่มโปรเจกต์เราจะใช้เวลานานเกินไปเพราะทำภาพยากเกินกว่าที่ควรจะเป็น ในงานนี้เราเลยอยากเล่าปรัชญา ‘work smarter not harder’ กลยุทธ์ที่ใช้คือดีไซน์ที่มีเป็นการคิดเชิงระบบ (systematic thinking) ไม่ต้องยาก เป็นดีไซน์ที่มินิมอล”

4. Childhood Muscle Memory
By รัชนันท์ กฤษฤานนท์

“ตอนเด็กๆ เราชอบวาดรูปโดยที่ไม่ต้องคิดอะไรเลย แต่พอโตขึ้นและเริ่มทำงาน งานอดิเรกนี้ก็ค่อยๆ หายไป เหมือนตัวเราเองก็หายไปด้วย งานนี้เราเลยอยากจะคุยกับตัวเองอีกครั้งว่าเราเป็นใคร ชอบอะไร ทำงานแบบไหนกันแน่ โดยใช้เทคนิคที่เราเคยใช้ตอนเด็กๆ อย่างสีโปสเตอร์ เราไม่ได้จับพู่กันมา 6 ปีแล้วแต่คิดว่าเทคนิคนี้น่าจะถ่ายทอดความสามารถในการจดจำของร่างกายได้ดีที่สุด”

5. MOBOOK
By ธาม แววเกกี

“เราเป็นดีไซเนอร์ UX/UI ที่ไม่รู้เรื่องการเลือกสี เลือกกระดาษ เลือกฟอนต์ เลยอยากทำงานสิ่งพิมพ์โดยเอาตัวตนของเรามาหาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งพิมพ์กับสิ่งที่เป็นดิจิทัล ในหนังสือเล่มนี้เรานำเอาลักษณะหลายอย่างของแอปพลิเคชั่นมาใส่ในแต่ละบท หนึ่งบทแทนหนึ่งแอปฯ และยังใส่ URL แทนการบอกเลขหน้า งานนี้ตรงกับเป้าหมายที่คิดไว้ว่าเราอยากทำสิ่งที่เราไม่ถนัดและอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ไปพร้อมๆ กัน”

6. Here and Now
By ปุณณภา ปุณโณทก

“เรานำงานเก่าของตัวเองมาทำใหม่ชื่อว่าโปรเจกต์ Here and Now งานนี้เป็นชิ้นงานที่เราค้นหาแนวทางใหม่ในการนำเสนอภาพนามธรรม ซึ่งข้อจำกัดที่อยากทำคือเรื่องงานพิมพ์ เลยเอาเรื่องเทคนิคมาเป็นกรอบจำกัด หนังสือเล่มนี้ตั้งโจทย์ว่าจะพิมพ์แค่ 3 เลเยอร์เท่านั้น แล้วสลับไปมาในรูปแบบต่างๆ ผสมกัน ใช้กระดาษที่แตกต่างกันเพื่อสร้างภาพที่ต่างออกไป”